|
ประชุมชี้แจงและหาแนวทางช่วยเหลือผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน |
|
วันนี้(21 มิถุนายน 2564) ท่านอิสรา โพธิ์เงิน นายอำเภอเมืองจันทร์ เป็นประธานร่วมประชุมกับปศุสัตว์อำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองจันทร์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองจันทร์ เพื่อร่วมปรึกษาหารือหาแนวทางการดำเนินการช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการป่วย และตายของโรคลัมปีสกินในโค กระบือ เบื้องต้น และสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
1. การรายงานการเกิดโรค ให้ประชาชนแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อแจ้งรายงานให้ปศุสัตว์อำเภอทราบ ผ่านช่องทางไลน์กลุ่มลัมปีสกิน
2. รายงานการการตายของสัตว์ที่เกิดจากโรคลัมปีสกิน ให้ประชาชนแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อแจ้งรายงานให้ปศุสัตว์อำเภอทราบ ผ่านช่องทางไลน์กลุ่มลัมปีสกิน แล้วปศุสัตว์อำเภอหรืออาสาปศุสัตว์ที่ได้รับมอบหมายลงพื้นที่ตรวจสอบ ตรวจซากสัตว์ พร้อมเอกสารบันทึกทำลายซาก (ใช้แทนการแจ้งความ) ถ่ายภาพรอยโรคชัดเจน
3.การช่วยเหลือเยียวยาการตายของสัตว์ ยังไม่มีความชัดเจน เมื่อมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบต่อไป
4.ข้อมูลสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคลัมปีสกินในโคกระบือ
1.โรคลัมปีสกินในโคกระบือเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีต้นกำเนิดจากแอฟริกา ติดต่อโดยแมลงดูดเลือดทุกชนิด ได้แก่ เหลือบ แมลงวันคอก ยุง ริ้น ไม่เป็นโรคติดต่อสู่คน และสัตว์ชนิดอื่น มีระยะอมเชื้อก่อนที่จะแสดงอาการ(ฟักตัว) 1-4สัปดาห์ โดยหากสัตว์มีภูมิคุ้มกันอาจจะไม่แสดงอาการ ไม่ติดต่อสู่คน ไม่ติดต่อสู่สุกร
2.สัตว์กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สัตว์อายุน้อย สัตว์ผอมโทรม สัตว์ท้อง.....จากการป่วยในพื้นที่เราจะพบว่าสัตว์ที่มีโปรแกรมการทำวัคซีนเป็นประจำ มีการฉีดยาถ่ายพยาธิทุก4-6เดือน เก็บถ่ายมูลประจำ คอกสะอาด มักมีความเสียหายน้อย เช่น ขึ้นตุ่มเล็กน้อย แต่ไม่ซึม สามารถกินอาหารได้ปกติ และพบหลายคอกสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องฉีดยารักษา (หรืออาจเสริมแค่วิตามินเอดี3อี)....มีการศึกษาพบว่าสายพันธุ์กลุ่มบราร์มัน(วัวอินเดีย) มีความชุกและรุนแรงมากกว่ากลุ่มทอรัส(วัวฝรั่ง/ชาโรเล่ย์)
3.แนวทางการป้องกัน......-กางมุ้ง -ติดหลอดไล่แมลง -สุมไฟไล่แมลง -พ่นยาแมลง/กำจัดแมลง (1.น้ำส้มควันไม้1ส่วนต่อน้ำ20 ส่วนพ่นใส่ตัววัวช่วงเวลาเย็นทุกวัน หรือ2.น้ำต้ม จากข่าแก่0.5 กิโลกรัมยาเส้น0.5กิโลกรัม ต้มในน้ำ10ลิตร กรองเอาน้ำพ่นวัวช่วงเวลาเย็นทุกวัน หรือ3. ยาพ่นฆ่าแมลงตัวยาไซเปอร์เมทริน25%อัตราส่วนน้ำยา 100ซีซีต่อน้ำ20ลิตร พ่นบริเวณรอบๆคอกทุก7-10วัน
4.โรคนี้จะมี4 ระยะได้แก่
1ระยะมีไข้สูง...แนะนำให้ยาลดไข้ แก้ปวดอย่างเดียว ตัวยาที่แนะนำคือ ฟลูนิซินเมกลูมิน ยี่ห้อ..เมฟลูซิน หรือฟูนิการ์ด ให้ทุกวันติดต่อกันไม่เกิน3วัน ระยะนี้ห้ามฉีดยาปฏิชีวนะ
2ระยะพบตุ่มวงกลมตามตัว อาจพบพร้อมกับระยะที่มีไข้สูง แนะนำให้ยาลดไข้ แก้ปวดอย่างเดียว ตัวยาที่แนะนำคือ ฟลูนิซินเมกลูมิน ยี่ห้อ..เมฟลูซิน หรือฟูนิการ์ด และให้วิตามินเอดี3อีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้วัว
3.ระยะแผลตุ่มแตก วัวบางตัวที่มีภูมิคุ้มกันดีอาจไม่พบอาการซึม แนะนำให้ใช้ยารักษาแผลภายนอก (ผงกำมะถันผสมกับน้ำมันหมูทาแผลทุกวัน) หากวัวที่ซึม ไม่กินอาหารอาจพิจารณาให้ยาลดไข้ลดอักเสบร่วมกับยาปฏิชีวนะ แนะนำ Ceftriazone ติดต่อกัน 3 วัน เสริมด้วยวิตามินเอดี3อี
4.ระยะตกสะเก็ด วัวที่ผ่านเข้าสู่ระยะนี้อาจใช้เวลา2สัปดาห์ถึงเดือน ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของวัว (ภูมิคุ้มกัน) แนะนำให้หาสารอาหารพรีมิกซ์เพื่อให้วัวฟื้นตัว อาจเป็นแบบผงที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอดี3อี ทองแดง สังกะสี เซเลเนียม สามารถให้ต่อเนื่องได้
หลักการรักษาดูแลฉีดยาสัตว์ที่ป่วยจะรักษาตามอาการ จะประเมินสุขภาพจากการกินได้เป็นหลัก มีการถ่ายพยาธิเพื่อให้สัตว์แข็งแรง เสริมวิตามินเกลือแร่ให้ตลอด จัดอาหารให้เพียงพอ ดูแลสิ่งแวดล้อมให้สัตว์อยู่สบาย ปกป้องสัตว์ไม่ให้ถูกรบกวนจากแมลงดูดเลือดแมลงรำคาญ ทั้งนี้เพื่อให้สัตว์มีการสร้างภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุด
5.สัตว์เริ่มมีภูมิคุ้มกันหลังจากป่วยในสัปดาห์ที่3 และสัตว์มีภูมิคุ้มกันป้องกันโรค
สำหรับการประชุมในวันนี้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือร่วมกันในประเด็นร้อนของพ่อแม่พี่น้องที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาทางออกร่วมกัน ขอขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ |
|
|
|